เหตุแผ่นดินไหวรุนแรงในกรุงเทพฯ เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา นอกจากส่งผลกระทบต่อความตื่นตระหนก ความเครียดในจิตใจของผู้คนจำนวนมากแล้ว หลายคนยังมีอาการ “โรคกล้ามเนื้ออักเสบเฉียบพลัน” เนื่องจากเดินลงบันไดหนีไฟ หรือวิ่งออกจากสถานที่หรือตึกต่างๆ ตามมาอีกด้วย

น.พ. เกรียงศักดิ์ เล็กเครือสุวรรณ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านคลินิกระงับปวด และผ่าตัด ข้อสะโพก ข้อเข่า ข้อไหล่ โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล เผยว่าอาการดังกล่าว เป็นปัญหาที่เกิดจากการใช้กล้ามขาอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ส่งผลให้กล้ามเนื้อมีการบาดเจ็บเล็กๆ หลายๆ จุดในมัดกล้ามเนื้อเดียวกันหรือต่างมัดกล้ามเนื้อกัน

แม้โรคนี้จะไม่ใช่อาการร้ายแรง แต่หากไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหรืออาการเรื้อรังได้ หรือในบางคนที่มีอาการรุนแรง อาจทำให้เกิดกล้ามเนื้ออักเสบรุนแรงหรือกล้ามเนื้อตายได้

โดยวิธีดูแลรักษากล้ามเนื้ออักเสบเบื้องต้นสามารถทำได้ด้วยตัวเองที่บ้าน ดังนี้

1. พักการใช้งานกล้ามเนื้อ

หลีกเลี่ยงการวิ่งหรือเดินเป็นระยะทางไกลๆ หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนัก หรือการเคลื่อนไหวที่กระทบกระเทือนบริเวณที่อักเสบ หลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาที่มีลักษณะวิ่งออกตัวอย่างรวดเร็วหรือต้องเบรกอย่างรวดเร็ว เช่น แบดมินตัน, เทนนิส, บาสเกตบอล, วิ่ง, ปั่นจักรยาน เป็นต้น

2. ประคบเย็นในช่วง 24-48 ชั่วโมงแรก

การใช้ถุงน้ำแข็งหรือเจลเย็นประคบในบริเวณที่อักเสบเป็นเวลา 15-20 นาทีทุก 2-3 ชั่วโมง จะช่วยลดอาการปวดและบวมได้ อย่าประคบเย็นนานเกินไปหรือวางน้ำแข็งลงบนผิวโดยตรง เพราะอาจทำให้เกิดภาวะเย็นกัดผิวหนัง

ภาพจาก iStock
ภาพจาก iStock

...

3. ประคบร้อนหลังจาก 48 ชั่วโมง

เมื่ออาการบวมลดลง สามารถใช้การประคบร้อน เช่น ถุงประคบร้อนหรือแผ่นร้อน เพื่อช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ลดอาการตึงของกล้ามเนื้อ และช่วยให้กล้ามเนื้อฟื้นตัวเร็วขึ้น

4. ยืดเหยียดและออกกำลังกายเบาๆ

หลังจากอาการปวดเริ่มบรรเทา ควรยืดกล้ามเนื้ออย่างอ่อนโยนเพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อกลับมาทำงานได้ตามปกติ การเคลื่อนไหวเบาๆ เช่น การเดิน หรือการทำโยคะเบาๆ สามารถช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อได้

ภาพจาก iStock
ภาพจาก iStock

5. ใช้ยาทา หรือยาบรรเทาปวด

สามารถใช้ยาทา เช่น ยานวดที่มีส่วนผสมของตัวยาแก้อักเสบ หรือบาล์มเพื่อช่วยลดอาการปวดและตึงกล้ามเนื้อ หากปวดมาก สามารถใช้ยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล หรือไอบูโพรเฟน แต่ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานโดยไม่ปรึกษาแพทย์

ภาพจาก iStock
ภาพจาก iStock

6. การนวดเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ

หลังจากอาการอักเสบลดลง การนวดเบา ๆ อาจช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ และช่วยให้กล้ามเนื้อฟื้นตัวเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการนวดแรงเกินไป โดยเฉพาะในช่วงที่อาการยังรุนแรง ให้หลีกเลี่ยงการนวดโดยผู้ไม่ชำนาญการเพราะอาจจะทำให้กล้ามเนื้อมีการบาดเจ็บรุนแรงมากขึ้น

สัญญาณที่ควรพบแพทย์

แม้ว่ากล้ามเนื้ออักเสบส่วนใหญ่จะสามารถรักษาเองได้ แต่หากมีอาการดังต่อไปนี้ ควรปรึกษาแพทย์

  1. อาการปวดรุนแรงขึ้นแม้จะได้พักและรักษาเบื้องต้น
  2. มีอาการบวมมากผิดปกติหรือมีรอยช้ำที่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ
  3. มีอาการชาหรืออ่อนแรงร่วมด้วย
  4. ไม่สามารถขยับส่วนของร่างกายที่ได้รับบาดเจ็บได้ตามปกติ
  5. กล้ามเนื้ออักเสบเป็นเวลานานเกิน 1-2 สัปดาห์โดยไม่ดีขึ้น
ภาพจาก iStock
ภาพจาก iStock

กล้ามเนื้ออักเสบเป็นภาวะที่สามารถดูแลรักษาได้ด้วยตัวเองโดยใช้หลักการ พัก ประคบเย็น-ร้อน ยืดเหยียด และใช้ยาเมื่อจำเป็น หากดูแลถูกต้อง อาการมักจะดีขึ้นภายในไม่กี่วันถึงสัปดาห์

...

อย่างไรก็ตาม หากอาการรุนแรงหรือเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์ หรือได้รับการรักษาจากนักกายภาพบำบัดผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม