แกนนำ-สส.เพื่อไทย ดาหน้าถล่มแกนนำม็อบปลุกผีปฏิวัติ “ดนุพร” ชี้ไม่อาจรับได้ “ภูมิธรรม” เชื่อไม่มีใครเอาด้วย ชมทหารยุคนี้มืออาชีพพอ “จิรายุ” โยงม็อบรับลูก “ฮุน เซน” “จิราพร” ปลุกคนไทยร่วมกันต่อต้าน “สุทิน” ฉะอย่ารักชาติผิดทาง ทิ้งระเบิดมาด้วยบริสุทธิ์ใจ หรือจ้างวาน “เต้น” อ่านไต๋มีบางพรรครอเก็บเกี่ยวหลังล้มรัฐบาล “วิสุทธิ์” เย้ยใช้วิธีโบราณจุดไม่ติด พรรคประชาชนร่วมประณามม็อบหนุนรัฐประหาร ขัดรัฐธรรมนูญ-ระบอบประชาธิปไตยร้ายแรง ย้ำยึดมั่นระบบรัฐสภา “ณัฐพงษ์” กระทุ้งนายกฯลาออก รัฐบาลหมดสภาพบริหาร โพลชี้ “อิ๊งค์”-พท.กระแสหดวูบ คนเชียร์ “เท้ง” นายกฯ ปธ.วิป รบ.เมินเดี๋ยวก็ ดีดขึ้น ปชน.ห่วงผลโพลสะท้อนคนเชียร์ผู้นำทหาร
พรรคเพื่อไทยดาหน้าถล่มแกนนำม็อบรวมพลังแผ่นดินฯ ขึ้นเวทีปลุกผีปฏิวัติ ชี้นำอำนาจนอกระบบล้มระบอบประชาธิปไตย ขณะที่พรรคประชาชนแถลงผ่านเพจทางการของพรรค ประณามการสร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหาร ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และระบอบประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง
พท.นัดถกโควตารอง ปธ.สภาฯ
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 29 มิ.ย.ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายดนุพร ปุณณกันต์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงความคืบหน้าการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า อยู่ในขั้นตอนสำคัญทราบว่ารัฐบาลนำขึ้นทูลเกล้าฯแล้ว ขอให้รอว่าจะโปรดเกล้าฯลงมาเมื่อใด ส่วนกระแสข่าวว่ากลุ่ม สส.อีสานของพรรคทวงโควตาเก้าอี้รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 หลังผิดหวังที่การปรับ ครม.ไม่มี สส.อีสานได้โควตารัฐมนตรีเพิ่ม เรื่องนี้ต้องพูดคุยกัน การปรับ ครม.ทุกครั้งทุกพรรคมีแรงกระเพื่อมหมด มีคนอยากเข้าไปทำงานเป็นเรื่องปกติ วันที่ 2 ก.ค.จะประชุมสส.พรรคเพื่อไทย ก่อนเปิดสมัยประชุมสภาวันที่ 3 ก.ค. พูดคุยถึงขั้นตอนหลายๆอย่าง ส่วนการเลือกรองประธานสภาฯคนใหม่ ได้รับแจ้งว่าน่าจะก่อนวันที่ 15 ก.ค. พรรคเพื่อไทยจะส่งใคร จะเป็นตัวแทนสส.ภาคอีสานหรือไม่ หรือจะเป็นโควตาของพรรคใด วันที่ 2 ก.ค.จะถกกันในที่ประชุมพรรค
...
รับไม่ได้แกนนำม็อบยุให้ปฏิวัติ
นายดนุพรกล่าวอีกว่า ส่วนสถานการณ์ชุมนุมของกลุ่มรวมพลังแผ่นดินปกป้องอธิปไตย นายกรัฐมนตรี ครม. และพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่าการชุมนุมแสดงออกเป็นสิทธิตามกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ แต่สิ่งที่พรรคเพื่อไทยเป็นห่วงคือเนื้อหาการปลุกระดมของแกนนำบางคนที่พูดถึงการปฏิวัติรัฐประหาร เป็นสิ่งที่ไม่อาจรับได้ ขอเรียกร้องไปยังประชาชนที่รักในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ว่าจะไม่เดินทางไปสู่การปฏิวัติรัฐประหารอีกแล้ว 20 ปีที่ผ่านมาประชาชนเจ็บปวด ประเมินค่าไม่ได้ สูญเสียชีวิตจำนวนมากกับการเรียกร้องและขัดขวางการรัฐประหาร พรรคเพื่อไทยไม่อาจรับได้เรื่องการปฏิวัติรัฐประหาร
ก.ม.นิรโทษจ่อรอเปิดประชุมสภา
นายดนุพรยังกล่าวถึงการเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 3 ก.ค.ว่า วิปรัฐบาลจะขอเลื่อนร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ออกไปประมาณ 1 เดือนบวกลบ ยืนยันว่าการผลักดันสถานบันเทิงครบวงจร เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศไทย การเลื่อนออกไปเพื่อทำความเข้าใจโครงการนี้ รวมถึงรับฟังความคิดเห็นประชาชน นักวิชาการ สถาบันการศึกษาต่างๆอย่างรอบด้าน การเลื่อนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวทำให้ร่างกฎหมายที่อยู่อันดับ 2 คือร่างการนิรโทษกรรม 4 ร่าง จะถูกนำเข้าสู่การพิจารณาวาระแรก วันที่ 9 ก.ค. หวังว่ากระบวนการทางสภาฯที่จะออกกฎหมายฉบับนี้จะเป็นแนวทางให้สังคมกลับมาสมานฉันท์ เดินหน้าประเทศไทยอีกครั้ง
“อ้วน” เชื่อทหารยุคนี้มืออาชีพพอ
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวว่า รัฐบาลยินดีรับฟังผู้ชุมนุม ยังไม่มีอะไรที่เป็นปัญหาร้ายแรง ส่วนกรณีพรรคประชาชน (ปชน.)ออกแถลงการณ์ไม่ยินยอมให้ใครฉวยโอกาสเอาความผิดพลาดล้มเหลวของนายกฯและรัฐบาลมาเปิดทางรัฐประหาร หรือการแก้ปัญหาการเมืองด้วยวิถีทางที่ขัดต่อประชาธิปไตยนั้น อยู่ที่มุมมองของแต่ละคน แต่ส่วนตัวเชื่อว่าทุกคนไม่สนับสนุน ทหารเองก็เข้าใจเพราะเป็นทหารอาชีพ เป็นทหารภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยังปฏิบัติตามกฎเกณฑ์กติการัฐธรรมนูญ เท่าที่ได้มาอยู่กับทหาร คิดว่าเป็นทหารสมัยใหม่ที่เห็นแก่ ชาติบ้านเมือง แต่เรื่องอธิปไตยทหารยอมไม่ได้ รัฐบาลก็ยอมไม่ได้เช่นเดียวกัน
“จิรายุ” โยงม็อบรับลูก “ฮุน เซน”
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เนื้อหาการปราศรัยปลุกระดมของแกนนำผู้ชุมนุมหลายคนที่เรียกร้องหารถถัง เป็นสิ่งที่คนไทยและประเทศไทยไม่อาจยอมรับได้ ในอดีตปากเคยบอกว่าขอต่อสู้กับปฏิวัติรัฐประหารจนกว่าชีวิตจะหาไม่ แต่เมื่อคืนเห็นได้ชัดเจนว่าแสวงหาอำนาจจากการปฏิวัติ การปฏิวัติรัฐประหารไม่เคยเป็นคำตอบที่ใช่ มีแต่ฉุดรั้งประเทศถอยหลัง อีกทั้งการปราศรัยยังทำให้เห็นความเชื่อมโยงของแกนนำที่สอดรับกับผู้นำกัมพูชา ที่ยุยงปลุกปั่น ก้าวล่วง แทรกแซงประเทศไทยมาตลอด ประสงค์จะโค่นล้มรัฐบาล หรือให้มีการปฏิวัติรัฐประหาร อันนำไปสู่การเอื้อประโยชน์ รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งต้องปกป้องอำนาจอธิปไตยของประชาชนคนไทย รวมใจกันจับมือต่อสู้กับการปฏิวัติรัฐประหาร ไม่ให้ประเทศบอบช้ำไปมากกว่านี้
ปลุกคนไทยร่วมสกัดรถถังยึด ปท.
น.ส.จิราพร สินธุไพร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การปราศรัยของแกนนำบนเวที เป็นกลุ่มคนหน้าเดิมชี้นำสังคมเคลื่อนไหวล้มรัฐบาล โดยใช้อำนาจนอกระบบ ที่พิสูจน์แล้วว่าการรัฐประหารทำให้ประเทศถอยหลัง ทำลายโครงสร้างการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมย่อยยับ คงต้องช่วยกันตั้งคำถามตัวโตๆ การจงใจใช้ประเด็นคลิปเสียงสนทนาระหว่างผู้นำไทยกับกัมพูชาเป็นข้ออ้างปลุกระดมการชุมนุม แต่ปลายทางที่ซ่อนอยู่คือการปูทางให้เกิดการรัฐประหารหรือไม่ ขอให้คนไทยร่วมยืนยันต่อต้านการรัฐประหาร
น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐประหารไม่ใช่ทางออก การใช้อำนาจนอกระบบ ไม่เพียงทำลายเสถียรภาพประเทศ แต่ยังพาสังคมไทยถอยหลัง พรากสิทธิเสรีภาพอำนาจการกำหนดอนาคตไปจากประชาชน ทุกฝ่ายต้องช่วยกันปฏิเสธ รัฐบาลจะอยู่จนครบวาระหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องรอพิสูจน์ด้วยผลงาน แต่รัฐบาลสมัยหน้าควรเกิดจากการเลือกตั้งโดยประชาชน ไม่ใช่จากรถถัง
“สุทิน” ฉะม็อบอย่ารักชาติผิดทาง
นายสุทิน คลังแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การแสดงออกว่ารักชาติเป็นเรื่องดี แต่ต้องมีเหตุผลแยกแยะ การใช้วิธีสร้างข้อมูลให้ประชาชนเข้าใจผิดมุ่งหวังล้มรัฐบาล ไม่เป็นผลดีกับประเทศ โดยเฉพาะการเรียกร้องรัฐประหาร ต้องฝากผู้ชุมนุมทบทวนว่ารักชาติถูกทางหรือไม่ อย่ารักชาติทางที่ผิด หากไม่ชอบรัฐบาล การเปลี่ยนแปลงโดยวิธีในสภาฯยังใช้ได้อยู่ ระบอบประชาธิปไตยยังไม่ถึงทางตันต้องเรียกร้องรัฐประหาร ข้อเรียกร้องให้นายกฯลาออกหรือยุบสภา ต้องฟังคนทั้งประเทศ จะฟังแค่คนกลุ่มหนึ่งที่การเรียกร้องเพื่อประโยชน์แค่กับเขา แต่เสียประโยชน์กับประชาชนส่วนใหญ่ นายกฯต้องยับยั้งชั่งใจ เพราะต้องรับผิดชอบต่อประชาชนที่เลือกมา ถ้าไปชิงลาออกง่ายๆ ก็เหมือนไม่รับผิดชอบต่อประชาชน ส่วนการชุมนุมต้องดูอีก 1-2 ครั้งถึงวิเคราะห์ได้ ต้องดูว่ามาด้วยความบริสุทธิ์ใจ ปราศจากการชักนำว่าจ้างหรือไม่ หากมาด้วยความบริสุทธิ์ใจก็น่ากังวลว่าจะบานปลาย

“เต้น” อ่านไต๋บางพรรคจ้องขย้ำ
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า การชุมนุมเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. เป็นไปตามคาดว่าคนมาม็อบเยอะกว่าทุกครั้ง ตั้งแต่ยุครัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ เพราะเห็นความเคลื่อนไหวเชิงเครือข่าย การทำงานแนวร่วมในทุกภูมิภาค รวมทั้งกลุ่มพลังทางสังคม แต่การขับเคลื่อนม็อบจำนวนมากต่อเนื่องได้แรมเดือนแรมปี ต้องมีพรรคการเมืองเข้าร่วมอย่างมีนัยสำคัญ ม็อบนี้เริ่มนับหนึ่ง และเดินต่อแน่ๆ อีกไม่นานน่าจะเห็นภาพพรรคการเมืองชัดขึ้น และจากที่เห็นพลังหลักตอนนี้เป็นมวลชนฝ่ายอนุรักษ์นิยม ภาพรวมเป็นวัยกลางคนไปถึงสูงอายุ ไม่ค่อยเห็นคนหนุ่มสาว ข้อเรียกร้องและเนื้อหาทำให้เห็นจุดหมายที่น่ากังวลปลายทางคือล้มรัฐบาล ปลุกกระแสชาตินิยมกดดันให้นายกฯลาออก บีบพรรคร่วมถอนตัว แต่ออกแล้วก็คงไม่จบ เพราะดูเหมือนปลายทางไม่ใช่การมีรัฐบาลใหม่ในสภาฯชุดนี้ เพราะแกนนำหลักพูดชัดว่าถ้าทหารจะทำอะไร (หมายถึงรัฐประหาร) ก็ไม่ขัด สัญญาณแบบนี้ปลายทางไม่ใช่วิถีประชาธิปไตย
ให้กลไกประชาธิปไตยเดินต่อไป
นายณัฐวุฒิกล่าวว่า คนกลุ่มนี้ทำทางยึดอำนาจมาแล้ว 2 รอบ จะทำแฮตทริกหรือไม่ ยังยืนยันเช่นเดิมว่าสถานการณ์นี้ยุบสภาฯไม่ใช่ทางออก ถ้ารัฐบาลล้มจะกลายเป็นเกมประเทศเพื่อนบ้านล้มเราได้ ต้องยืนหลักให้ชัดว่ารัฐประหารคือวิธีการนอกระบบ เที่ยวนี้ถ้าจะยึดก็ให้ยึดทั้งที่ยังเป็นรัฐบาลเต็มตัวไม่ใช่รักษาการ คิดว่ายึดยากกว่าถ้าเทียบกับ 2 ครั้งที่ผ่านมา เรื่องนี้ไม่ได้กล่าวหาหรือกดดันกองทัพ เพราะท่าทีผู้นำเหล่าทัพยังไม่มีอะไรน่ากังวล อายุขัยการเมืองของรัฐบาลนี้ไม่เกิน 2 ปี หรืออาจเร็วกว่านั้น ให้กลไกประชาธิปไตยทำงานของมัน พรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ถ้ายังหันหน้าเข้าหากันไม่ได้ก็ต้องเอาหลังพิงกัน ปฏิเสธอำนาจนอกระบบ ไม่ยอมรับการเคลื่อนไหวเพื่อเปิดทางให้รัฐประหาร เพื่อรักษาไว้ทั้งเอกราชและอำนาจประชาชน
ปชน.ประณามม็อบหนุนปฏิวัติ
วันเดียวกัน เพจพรรคประชาชน (ปชน.) โพสต์ความเห็นต่อการชุมนุมของคณะรวมพลังแผ่นดินว่า แม้จะมีข้อเรียกร้องอย่างเป็นทางการให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ลาออก และให้พรรคร่วมรัฐบาลถอนตัว ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องปกติในระบอบประชาธิปไตย แต่ปรากฏว่าการปราศรัยของแกนนำบนเวทีบางคน กลับมีเนื้อหาที่เปิดทางให้กับการรัฐประหาร รวมถึงปลุกปั่นกระแสชาตินิยมที่เกินเลยขอบเขต พรรค ปชน.ขอประณามการสร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหาร ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง ขอเรียกร้องให้ประชาชนที่สนับสนุนการชุมนุมด้วยความไม่พอใจต่อนายกฯ และรัฐบาล ถอนตัวจากการสนับสนุนคณะรวมพลังแผ่นดิน ที่มีแกนนำบางคนมีเจตนาสนับสนุนการรัฐประหาร พวกเราคนไทยต่างได้รับบทเรียนว่า 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศชาติและประชาชนบอบช้ำเสียหายอย่างไม่อาจประเมินได้ จากการรัฐประหาร 2 ครั้ง วันนี้เราต้องไม่ยินยอมให้ใครฉวยโอกาสเอาความผิดพลาดล้มเหลวของนายกฯ และรัฐบาล มาเปิดทางให้กับการรัฐประหาร หรือแก้ปัญหาการเมืองด้วยวิถีทางที่ขัดต่อประชาธิปไตยอีก มีแต่จะก่อวิกฤติซ้ำซ้อนทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น
ย้ำนายกฯลาออก รบ.หมดสภาพ
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) กล่าวถึงโฉมหน้า “ครม.อิ๊งค์ 2” ว่า สภาพการตั้งรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ จะเห็นพรรคร่วมรัฐบาลส่งข้อเรียกร้องคำขู่จะถอนตัวตลอด เราจะเห็นสถานการณ์แบบนี้ไปเรื่อยๆแทบทุกครั้งที่มีการโหวตกฎหมาย พรรค ปชน. ยังคงเรียกร้องให้ ยุบสภา เพราะหากรัฐบาลยังเป็นแบบนี้ไม่น่าจะแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้ ต้องคืนเสียงให้กับประชาชนตัดสินถึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด เมื่อถามว่าตอนนี้รายชื่อ ครม.ชุดใหม่ขึ้นทูลเกล้าฯถวายแล้ว ประเมินว่าถ้าไปต่ออุบัติเหตุทางการเมืองจะเกิดขึ้นได้ง่ายหรือไม่ นายณัฐพงษ์ตอบว่า มีความเป็นไปได้ ไม่ใช่แค่ในสถานการณ์อย่างนี้ หากมองไปข้างหน้าทุกกฎหมายที่เสนอเข้าสู่สภาฯ หรือทุกการลงมติที่สำคัญ พรรคร่วมสามารถส่งคำขู่เรียกร้องต่อรองผลประโยชน์ให้ได้มากที่สุด มองไม่เห็นเลยว่ารัฐบาลพรรค พท.จะสามารถบริหารและคุมเสียงได้อย่างมีเสถียรภาพอย่างไร
พปชร.ตบมือเชียร์ม็อบรักชาติ
พล.ต.ท.ปิยะ ต๊ะวิชัย โฆษกพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) กล่าวว่า ขอบคุณประชาชนที่รวมตัวแสดงออกถึงความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และความหวงแหนผืนแผ่นดินไทย เสียงประชาชนที่เรียกร้องให้นายกฯลาออก สะท้อนความไม่ไว้วางใจผู้นำประเทศ ได้วิงวอนพรรคร่วมรัฐบาลและผู้นำเหล่าทัพหยุดหนุนรัฐบาลชุดนี้ เพื่อเห็นแก่ประเทศชาติและประชาชน รวมถึงพรรค พท.เองอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่ห้ามบุคคลนอกครอบงำพรรค ดังนั้นพรรค พท.จึงหมดความชอบธรรมในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแล้ว ควรเปิดโอกาสให้พรรคอื่น เช่น ภูมิใจไทย (ภท.) เข้ารับหน้าที่บริหารประเทศ
“เสรี” ประเมิน “อิ๊งค์” ท่าจะไม่รอด
นายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีต สว.โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า การชุมนุมใหญ่ขับไล่รัฐบาลที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ดูท่านายกฯจะไม่รอด คงต้องลาออก หรือยุบสภา แค่เริ่มต้นก็มีมวลมหาประชาชนมาขับไล่มากมายขนาดนี้ ยังมีคดีความอยู่ที่ศาลอีกหลายคดี ทำให้หลุดจากตำแหน่งได้ทุกเมื่อ การไม่มีความรู้ ไม่มีประสบการณ์ทั้งงานการเมือง งานต่างประเทศ ไม่มีความสามารถบริหารบ้านเมือง เศรษฐกิจล้มเหลว ประชาชนทุกข์ยาก ล้วนเป็นเหตุให้นายกฯต้องออกจากตำแหน่งทั้งสิ้น ดูแล้วการตั้งรัฐบาลเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีก็ไม่อาจอยู่ต่อไปได้ แต่ละพรรคและนักการเมืองแต่ละคนล้วนมีปัญหาติดตัว อีกทั้งเสถียรภาพรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำอย่างไรก็อยู่ไม่ได้ ด้วยปัญหาที่เกิดขึ้นห้อมล้อมตัวนายกฯ ไม่มีเหตุอื่นที่จะทำให้อยู่ได้อีกต่อไป ตอนนี้ไม่มีทางอื่นแล้ว นายกฯลาออกจะเป็นผลดีต่อชาติบ้านเมืองและประชาชนมากสุด
โพลชี้ “แพทองธาร”-พท.กระแสหดวูบ
ขณะที่นิด้าโพลเปิดผลสำรวจความเห็นประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ 2,500 ตัวอย่าง เรื่อง “การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาส ครั้งที่ 2/2568” ระหว่างวันที่ 19-25 มิ.ย. พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 31.48 สนับสนุนให้นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ รองลงมาร้อยละ 19.88 ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ ร้อยละ 12.72 เป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 9.64 เป็นนายอนุทิน ชาญวีรกูล และร้อยละ 9.20 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ประชาชนจะสนับสนุนในวันนี้ ร้อยละ 46.08 ระบุว่าเป็นพรรคประชาชน รองลงมาร้อยละ 13.24 พรรครวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 11.52 พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 9.76 พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 7.72 ยังหาพรรคการเมืองที่เหมาะสมไม่ได้
คะแนนของฝ่ายค้านพลิกขึ้นมานำ
สวนดุสิตโพลเปิดผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ 2,114 คน เรื่อง “ดัชนีการเมืองไทย ประจำเดือน มิ.ย. 2568” ระหว่างวันที่ 23-27 มิ.ย. พบว่ากลุ่มตัวอย่างให้คะแนนภาพรวมดัชนีการเมืองไทยประจำเดือน มิ.ย.2568 เฉลี่ย 4.13 คะแนน ลดลงจากเดือน พ.ค.2568 ที่ได้ 4.70 คะแนน ตัวชี้วัดที่ได้คะแนนสูงสุด คือ ผลงานของฝ่ายค้าน เฉลี่ย 5.15 คะแนน ตัวชี้วัดที่ได้คะแนนต่ำสุด คือ การแก้ปัญหาความยากจนและราคาสินค้า เท่ากัน 3.92 คะแนน นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลที่มีบทบาทโดดเด่นประจำเดือน คือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ร้อยละ 23.04 ส่วนนักการเมืองฝ่ายค้านที่มีบทบาทโดดเด่นประจำเดือน คือ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ร้อยละ 48.72 ผลงานฝ่ายรัฐบาลที่ชื่นชอบประจำเดือน คือขึ้นค่าแรง 400 บาท ร้อยละ 41.12 ผลงานฝ่ายค้านที่ชื่นชอบประจำเดือน คือ ตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐบาล ร้อยละ 44.84
เห็นใจคนไทยแบกแรงกดดันเลือกข้าง
ซูเปอร์โพลเปิดผลสำรวจประชาชน 1,093 ตัวอย่าง เรื่อง “อารมณ์ความรู้สึกของคนไทย” ระหว่างวันที่ 24-28 มิ.ย. พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 81.7 รู้สึกเห็นใจประชาชนที่ต้องทนแรงกดดันจากการแบ่งข้างเลือกข้างทางการเมือง ร้อยละ 74.2 เห็นใจ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ช่วงวัยของคนรุ่นใหม่ที่ต้องแบกภาระชาติทุกอย่างท่ามกลางความท้าทายรอบด้าน รองลงมา เห็นใจนักการเมืองรุ่นใหม่ที่ต้องต่อสู้กับโครงสร้างและกลุ่มการเมืองแบบเดิม เห็นใจฝ่ายค้านที่ตรวจสอบรัฐบาลภายใต้ข้อจำกัดมากมาย เมื่อถามถึงอารมณ์ความรู้สึกมิติชีวิต ปากท้อง ครอบครัว และความเป็นธรรม พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 91.8 เห็นใจครอบครัวนักเรียนยากจนพิเศษ ขาดโอกาสที่ดีด้านการศึกษา ร้อยละ 82.5 เห็นใจผู้มีรายได้น้อยและข้าราชการบำนาญระดับล่างในยามวิกฤติเศรษฐกิจเช่นนี้ รองลงมาเห็นใจครอบครัวตำรวจ ทหารอาสาสมัคร เสียชีวิตจากความไม่สงบชายแดน
เมินโพล รบ.แต้มร่วงเดี๋ยวก็ดีดขึ้น
ด้านนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานวิปรัฐบาล และประธาน สส.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ผลสำรวจที่ระบุว่าคะแนนนิยม น.ส.แพทองธารหล่นไปอยู่อันดับ 5 และคะแนนนิยมพรรคเพื่อไทยตกไปอยู่ที่ 3 ว่า ไม่น่าตกใจ เป็นผลพวงจากคลิปสนทนาที่บางกลุ่มยังไม่เข้าใจว่าเป็นเทคนิคทางการทูต แต่ประชาชนต่างจังหวัดส่วนใหญ่ยังเข้าใจการทำหน้าที่ของนายกฯ ผลโพลที่ออกมาสะท้อนอารมณ์ประชาชนที่สอบถามความรู้สึกช่วงขณะนั้น แต่อีก 3-4 วันต่อมาอาจเปลี่ยนแปลงได้ หลังรัฐบาลชี้แจงทำความเข้าใจให้ประชาชนรับทราบข้อมูลมากขึ้น หลังจากนี้เป็นหน้าที่ ครม.ชุดใหม่ ต้องทำงานแก้ปัญหาเต็มที่ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง มั่นใจว่าคะแนนนิยมนายกฯและพรรคเพื่อไทยจะกลับมาดีขึ้นแน่นอน ไม่ใช่ว่าจะเลือกตั้งในวันพรุ่งนี้ ควรให้กำลังใจนายกฯ สส.เพื่อไทยยังมั่นใจในคะแนนพรรคว่ายังมั่นคงอยู่
เย้ยม็อบโบราณไล่รัฐบาลจุดไม่ติด
นายวิสุทธิ์กล่าวว่า ส่วนการชุมนุมขับไล่รัฐบาล คนที่ขึ้นเวทีมีแต่คนหน้าเดิมๆ เป็นพวกขาประจำ แกนนำบางคนยังยุให้ทำรัฐประหาร ใช้วิธีโคตรโบราณ พวกที่ขึ้นเวทีอยากกลับมาเป็น สว. หรือมีตำแหน่งทางการเมือง หากมีการปฏิวัติเกิดขึ้น เชื่อว่าม็อบไม่น่าจะจุดติด แม้แต่ฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาชนยังคิดได้ ไม่เอาด้วยกับการรัฐประหาร อย่าไปตกใจมากมาย เมื่อถามว่าหลังปรับ ครม. ยังมั่นใจหรือไม่รัฐบาลยังมีเสถียรภาพ จะไม่ถูกพรรคร่วมรัฐบาลกดดัน นายวิสุทธิ์ตอบว่า ทุกพรรคต้องขยันทำงานมากขึ้น เอาสภาฯ เป็นตัวตั้ง ไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องนับองค์ประชุม ควรอยู่ในสภาฯไม่ควรไปอยู่ตามสนามบิน หรือในพื้นที่ตัวเอง เพราะสภาฯ คือที่ทำงาน สส. หากพรรคร่วมรัฐบาลใช้วิธีกดดันรัฐบาลจนต้องยุบสภาหรือรัฐบาลเจ๊ง โดยที่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 ยังไม่ผ่านวาระ 3 ยิ่งทำร้ายประเทศ มั่นใจว่าพรรคร่วมรัฐบาลยังมีเสถียรภาพ ไม่ถึงขั้นต้องยุบสภาหรือลาออก
โต้ผลโพลยังไม่ใช่บทสรุปสุดท้าย
น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ทวีตข้อความระบุว่า ผลสำรวจโพลรอบนี้อาจทำให้บางคนตั้งคำถามกับกระแสความนิยมของนายกฯ แต่ในระบอบประชาธิปไตยคะแนนนิยมมีขึ้นมีลงเป็นเรื่องปกติ ประชาชนมีสิทธิเปลี่ยนใจได้เสมอตามสถานการณ์ ผลโพลครั้งนี้ยังไม่ใช่บทสรุปสุดท้าย ยังเหลือเวลาเกือบ 2 ปี ก่อนถึงการเลือกตั้งครั้งต่อไป ยังมีโอกาสอีกมากให้รัฐบาลแสดงผลงาน และสร้างความเชื่อมั่นกลับคืน ในระยะสั้นผลโพลอาจสะท้อนกระแส แต่ระยะยาวคงต้องตัดสินที่ฐานเสียงทั้งในระดับประเทศและพื้นที่ ต้องวัดกันที่ความชัดเจนของนโยบาย และการผลักดันผลงานที่เป็นรูปธรรม นายกฯ แพทองธารอาจยังไม่ใช่ชื่อแรกในผลโพลวันนี้ แต่อาจเป็นชื่อที่ประชาชนส่วนใหญ่เลือก เมื่อถึงวันที่ต้องตัดสินอนาคตประเทศอีกครั้ง
ห่วงโพลสะท้อนคนเชียร์ผู้นำทหาร
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) กล่าวถึงผลสำรวจนิด้าโพลที่ระบุว่าประชาชนเชียร์ให้เป็นนายกฯ ว่า ขอบคุณประชาชนที่มอบความไว้วางใจให้ตนและพรรค ปชน.มากขึ้น จะเห็นว่าคะแนนนิยมนายกฯตกลงมาก จากความล้มเหลวการบริหารราชการแผ่นดิน จนประชาชนเสียความเชื่อมั่น ทำให้แคนดิเดตนายกฯ คนอื่น เช่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ เพิ่มขึ้น เป็นสิ่งที่เป็นห่วง เพราะการชุมนุมขับไล่รัฐบาลมีข้อเรียกร้องเลยเถิดถึงรัฐประหาร ผลโพลที่เห็นอาจนิยมนายกฯที่มาจากฝั่งทหารมากขึ้น จึงค่อนข้างกังวลว่า ความล้มเหลวของ น.ส.แพทองธาร อาจนำไปสู่การใช้อำนาจนอกระบบ หรือนายกฯที่มาจากทหาร มาแก้ไขปัญหาสถานการณ์ไทย-กัมพูชา ไม่ใช่เรื่องผิดที่ประชาชนจะเห็นแบบนั้น แต่สิ่งที่น่าห่วงคือการที่คนบางกลุ่มพยายามฉกฉวยโอกาส นำไปสู่สถานการณ์ที่ไม่ใช่กระบวนการประชาธิปไตย เรากำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือหรือไม่ การแสดงออกเป็นสิทธิก็จริง แต่การไม่ไปชุมนุม ไม่เป็นเครื่องมือให้ใครก็เป็นสิทธิของพวกเราเช่นกัน ต้องมีสติติดตามสถานการณ์
ภท.แนะใช้เวทีสภาแก้ปมปัญหา
น.ส.แนน บุณย์ธิดา สมชัย โฆษกพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวว่า พรรค ภท.ขอเรียกร้องให้รัฐบาล และพรรคการเมืองทุกพรรคนำปัญหาที่เกิดขึ้นกรณีไทย-กัมพูชา เข้าสู่ระบบรัฐสภา ใช้เวทีรัฐสภาที่มีตัวแทนปวงชนชาวไทยคือ สส. ซึ่งเป็นกระบวนการปกติของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นช่องทางหลักในการอภิปราย การชี้แจง ตอบคำถาม และข้อสงสัยต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมขณะนี้ รัฐสภาคือแนวทางที่รัฐบาลและทุกพรรคควรเลือกใช้ หากหนีไม่เอาปัญหาเข้าสู่ระบบรัฐสภา จะเป็นเงื่อนไขให้มีปัญหาอย่างอื่นเพิ่มมากขึ้นอีก ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดขึ้น
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่