บทสวดภาวนาแด่พระผู้เป็นเจ้า ดังกึกก้องในนครรัฐวาติกันอีกครา หลังสมเด็จพระสันตะปาปา ฟรานซิสที่ 1 ประมุขแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิก หรือ “บิชอปแห่งโรม” พระองค์ที่ 266 สิ้นพระชนม์ด้วยพระชนมายุ 88 พรรษา เมื่อวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา

โป๊ปฟรานซิสจากอาร์เจนตินา ผู้ทรงมีพระนามเดิมว่า“ฮอร์เก มาริโอ เบอร์โกกลิโอ” เสด็จกลับสู่สรวงสวรรค์ ปิดฉากภารกิจอันสูงส่งที่ยาวนานกว่า 9 ปี โดยเฉพาะการเรียกร้องการดูแลผู้เปราะบาง เน้นย้ำคุณค่าของความเห็นอกเห็นใจ การร่วมทุกข์ร่วมสุข และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่มีความสำคัญมากกว่าตลาดการเงิน

อย่างไรก็ตาม กระบวนการ “ทางโลก” ย่อมต้องดำเนินต่อไป ตำแหน่งพระสันตะปาปาจำเป็นต้องได้รับการสานต่อเหมือนอย่างที่เป็นมาหลายศตวรรษ นับตั้งแต่นักบุญเซนต์ปีเตอร์ในช่วงหลังคริสตกาล ค.ศ.30 ซึ่งในปัจจุบันได้ใช้ระบบคัดสรรผ่านการประชุม “คอนเคลฟ” ของคณะพระคาร์ดินัล ที่มีสมณศักดิ์สูงสุด

การประชุมคอนเคลฟมีต้นกำเนิดใน “ยุคกลาง” ศตวรรษที่ 13 เป็นหนึ่งในกระบวนการเลือกตั้งที่เก่าแก่ที่สุดของโลก มาจากภาษาละตินแปลว่า “มาพร้อมกับกุญแจ” สะท้อนถึงการประชุมแบบปิดที่รอการไขกลอน คณะพระคาร์ดินัลรวมตัวกันเพื่อลงคะแนนโหวตภายในมหาวิหารซิสทีน ชาเปล จนกว่าจะปรากฏชื่อโป๊ปพระองค์ที่ได้รับเสียงสนับสนุนมากกว่า 2 ใน 3

โดยเฉลี่ยแล้วการประชุมคอนเคลฟในช่วงเวลาของพระสันตะปาปา 10 พระองค์ที่ผ่านมา จะใช้เวลาประมาณ 3 วัน ต่างกับในช่วงยุคกลางที่เคยยาวนานที่สุด 2 ปี 9 เดือน กับอีก 2 วัน ส่วนการคัดเลือกโป๊ปฟรานซิสเมื่อปี 2556 ที่ผ่านมา ใช้เวลาเพียงแค่ 2 วัน โหวตกันทั้งหมด 5 ครั้ง ตามรูปแบบกระบวนการโหวตที่เป็นมาตรฐานตายตัวคือ ในวันแรกจะมีการลงคะแนนเพียง 1 ครั้งจากนั้นในวันที่ 2 เป็นต้นไป จะลงคะแนนวันละ 2 ครั้งคือช่วงเวลา 12.00 น. ตามด้วยการลงคะแนนรอบสองในเวลา 19.00 น.

...

กระบวนการเลือกตั้งพระสันตะปาปาในปีนี้ ประกอบด้วย คณะพระคาร์ดินัล 135 องค์ (มี 3 องค์สละสิทธิเนื่องด้วยปัญหาสุขภาพและปัญหาอื้อฉาว) จาก 71 ประเทศ ในจำนวนนี้ 53 องค์มาจากยุโรป มากที่สุดคืออิตาลี 17 องค์ ตามด้วยพระคาร์ดินัลจากเอเชีย 23 องค์ จากแอฟริกา 18 องค์ จากอเมริกาใต้ 17 องค์ จากอเมริกาเหนือ 16 องค์ จากอเมริกากลาง 4 องค์ และจากภูมิภาคแปซิฟิก 4 องค์

ในบัตรเลือกตั้งจะสลักด้วยถ้อยคำว่า เอลิโก อิน ซัมมัม พอนติฟิเซม “ข้าพเจ้าขอเลือกองค์พระสันตะปาปา” ให้คณะพระคาร์ดินัลเขียนชื่อผู้ที่คิดว่าเหมาะสม ตามด้วยการประกาศนับผล หากเสียงยังไม่ถึงเกณฑ์บัตรเลือกตั้งจะถูกนำไปเผาด้วยควันสีดำ ปล่อยลอยขโมงออกมาจากปล่องเหนือมหาวิหาร ให้ประชาชนรับรู้ว่าการโหวตยังต้องดำเนินต่อไป แต่ถ้าสำเร็จได้คะแนนตามเกณฑ์ก็จะใช้ควันสีขาวบริสุทธิ์

แน่นอนว่ากระบวนการเลือกตั้งพระสันตะปาปาเป็นอะไรที่คาดเดายาก ทว่าในแต่ละครั้งย่อมมีการประเมินเสี่ยงทายโผ ซึ่งสำหรับปีนี้ประกอบด้วย พระคาร์ดินัล “เปียโตร พาโรลิน” วัย 70 ปี จากอิตาลี ผู้มีความใกล้ชิดกับโป๊ปฟรานซิส และทำหน้าที่ดูแลกิจการด้านต่างประเทศของวาติกัน พระองค์ยังถูกมองว่าเป็นตัวเต็งที่เดินทางสายกลางและจะสานต่อหน้าที่โป๊ปได้ไม่ต่างจากเดิม พระคาร์ดินัล “มัตเตโอ ซุปปี” วัย 69 ปีจากอิตาลี อีกหนึ่งคนใกล้ชิด ผู้มีแนวคิดเสรีนิยม ที่ทำหน้าที่แทนพระองค์เดินทางไปยูเครนและเข้าพบประธานาธิบดีสหรัฐฯ

เช่นเดียวกับพระคาร์ดินัล “เปียร์บัตติสตา พิซซาบัลลา” วัย 60 ปี จากอิตาลี ผู้ดูแลคณะสงฆ์ในนครศักดิ์สิทธิ์เยรูซาเลม ที่มีแนวคิดสายกลางและได้รับเสียงสนับสนุนจากบทบาทสถานการณ์ความขัดแย้งฉนวนกาซา เคยเสนอให้กลุ่มติดอาวุธฮามาสเอาพระองค์ไปเป็นตัวประกัน เพื่อแลกกับตัวประกันผู้บริสุทธิ์

ในทางกลับกัน เหมือนกับเหรียญที่มีสองด้าน พระคาร์ดินัล “ปีเตอร์ เออร์โด” วัย 72 ปี จากฮังการี ถือเป็นตัวเต็งจากขั้วอนุรักษนิยมที่สวนทางกับโป๊ปฟรานซิส ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดเปิดรับผู้อพยพเข้ายุโรป พระคาร์ดินัล “โรเบิร์ต ซาราห์” วัย 79 ปี จากกินี ผู้ทรงประพันธ์หนังสือปกป้องแนวคิดว่านักบวชควรครองตนเป็นโสด มองแนวคิดเพศสภาพว่าเป็นภัยคุกคามต่อสังคม พร้อมมีจุดยืนต่อต้านแนวคิดหัวรุนแรงของศาสนาอื่น และพระคาร์ดินัล “ปีเตอร์ เติร์กสัน” วัย 76 ปีจากกานา ผู้ทรงสนับสนุนการแต่งงานชาย-หญิง และต่อต้านการคอร์รัปชัน

รวมถึงตัวเต็งจากเอเชีย พระคาร์ดินัล “หลุยส์ อันโตนิโอ ทาเกิล” วัย 67 ปีจากฟิลิปปินส์ ผู้ทรงมีแนวคิดเสรีนิยมใกล้เคียงกับโป๊ปฟรานซิส เคยแสดงความไม่เห็นด้วยกับแนวคิดอนุรักษนิยม เช่น การไม่ยอมรับหญิงที่ท้องก่อนแต่ง หรือชาวคริสต์คาทอลิกที่หย่าร้างหรือแต่งงานใหม่ ซึ่งหากได้รับเลือกจะถือเป็นพระสันตะปาปาจากภูมิภาคเอเชียพระองค์แรก แต่ทั้งนี้ก็มีรายงานเช่นกันว่า ในระยะหลังพระองค์หลุดจากโผคนใกล้ชิดไปแล้ว

จะถูกต้องตามโผหรือหลุดโผ เป็นเรื่องที่ต้องจับตากันต่อไปในกระบวนการเลือกตั้งที่คาดว่าจะมีขึ้นในช่วงวันที่ 6–11 พ.ค.นี้ แต่ในท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่ย่อมเกิดขึ้นแน่นอนคือ ภาพเหตุการณ์พระคาร์ดินัลอาวุโสขึ้นประกาศที่ระเบียงมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ด้วยถ้อยคำว่า “อันนันทิโอ วอบิส

กวาเดียม แมกนัม, ฮาเบมุม ปาปาม– ข้าพเจ้าขอประกาศด้วยความยินดีว่า เรามีพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่แล้ว” พร้อมประกาศให้ชาวโลกรับรู้ว่า พระสันตะปาปาพระองค์ที่ 267 มีพระนามว่าอะไร.

วีรพจน์ อินทรพันธ์

...

คลิกอ่านคอลัมน์ “7 วันรอบโลก” เพิ่มเติม