ปั่นป่วนกันไปทุกภูมิภาคตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากมาตรการกำแพงภาษีสินค้าของสหรัฐอเมริกามีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 9 เม.ย.
โดยเป็นสูตรพิลึกพิลั่น ใช้ตัวเลขเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯปี 2567 หารด้วยมูลค่าที่สหรัฐฯนำเข้าในปี 2567 และคูณด้วย 100% สำหรับของประเทศไทยสรุปออกมาเท่ากับ 72% ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯอ้างว่าเป็นตัวเลขรวบยอด ในฐานะที่ไทย “เอาเปรียบ” ตั้งภาษีสินค้าสหรัฐฯ ปั่นค่าเงิน และกำหนดเงื่อนไขกีดกันทางการค้า
และเมื่อนำ 72% ไปหารครึ่ง ไทยจึงควรโดนกำแพงภาษี 36%
ขณะที่ประเทศจีน “เป้าหมายการโจมตีหลัก” ตามที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศไว้ตั้งแต่การหาเสียงลงสมัครเลือกตั้ง โดยติดๆกันเป็นระลอก เริ่มตั้งแต่กำแพงภาษี 20% โทษฐานไม่ควบคุมสารเสพติด ตามด้วยกำแพงภาษี “ตอบโต้” ที่แทบทุกประเทศโดนกันหมด ในอัตรา 34% จากนั้นจึงบวกเพิ่มไปอีก 50% เนื่องจากรัฐบาลจีนไม่ยอมสยบตั้งภาษีเอาคืน จนทำให้สินค้าจีนที่สหรัฐฯนำเข้าถูกภาษีไป 104%
ซ้ำร้ายในวันที่เขียนคอลัมน์อยู่นี้ ผู้นำทรัมป์ยังปรับอัตรากำแพงภาษีสินค้าจีนให้กลายเป็น 125% และขยับเป็น 145% ในเวลาต่อมา จนทำให้ไม่รู้ว่าจะหยุดที่ตรงไหน ทั้งยังมีเสียงจากเหล่านักลงทุนบางส่วนที่ต้องการให้ประธานาธิบดีไปให้สุด เล่นงานจีนไปเลย 400%
อย่างไรก็ตาม ศึกตั้งกำแพงภาษีครั้งนี้ มีลักษณะคล้ายคลึงกับภาพลักษณ์ของการทำธุรกิจแบบอเมริกันที่เล่าขานกันมาว่า ทุบโต๊ะเพื่อดึงเข้าสู่การเจรจาที่ตัวเองเป็นผู้คุมเกม เพราะหลังจากนานาชาติส่งสัญญาณว่าจะไม่ตอบโต้และขอเข้าพบเพื่อเจรจา (ซึ่งทรัมป์แซวว่าต่างชาติแห่กันมาจูบก้น อ้อนวอนขอร้องนายท่าน) รัฐบาลสหรัฐฯก็สั่งเบรกทันที ขอระงับการเก็บภาษีอัตราตอบโต้ 90 วัน เพื่อ “เมกดีล” ทำข้อตกลงค้าขายกันใหม่
...
ในช่วงประธานาธิบดีทรัมป์ชนะการเลือกตั้งและเตรียมสาบานตนรับตำแหน่ง เคยมีสื่อญี่ปุ่นเขียนบทวิเคราะห์ให้ข้อเสนอแนะนายกรัฐมนตรีว่า การเข้าเจรจากับทรัมป์ จำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูง การเจรจาใดๆจะต้องไม่หยิบยกเหตุผลยืดยาวมาพูด มิฉะนั้นจะถูกมองว่าเป็น “ความคิดเห็น” ไม่ใช่ “ข้อเท็จจริง” และที่สำคัญ ห้ามเปิดเผยความอ่อนแอออกมาให้เห็นอย่างเด็ดขาด
ประธานาธิบดีทรัมป์ไม่ให้ค่ากับความพยายามอ้อนวอน ขอร้อง หรือเรียกร้องความเห็นอกเห็นใจ หากทำเช่นนั้นไป สิ่งที่จะตามมาคือการถูกกดขี่และบีบคั้นให้จำยอม แต่หากผู้เข้าเจรจาแสดงจุดยืนคือ “ประเทศของฉันมาก่อน” จักถือว่ามีจุดยืนที่เหมือนกัน และมีโอกาสที่จะได้รับความเคารพมากกว่า
จึงไม่น่าประหลาดใจว่า ทำไมแต่ละประเทศถึงได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างกัน อย่างสหภาพยุโรปที่ยื่นข้อเสนอให้สินค้ารถยนต์และอุตสาหกรรมค้าขายกันอย่างเสรีปลอดภาษี ก็ได้รับคำตอบปฏิเสธภายใน 1 วัน พร้อมยื่นเงื่อนไขกลับว่า ให้ยุโรปซื้อสินค้าพลังงานจากสหรัฐฯ 350,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 11.9 ล้านล้านบาท เพื่อหักลบตัวเลขขาดดุลการค้าสหรัฐฯ-ยุโรปถึงค่อยน่าสนใจ ขณะที่เวียดนามก็ถูกโบกมือปัดข้อเสนอเรื่องภาษี 0% จนทำให้ต้องยื่นเงื่อนไขต่อรอง ที่เกี่ยวกับการควบคุมการส่งสินค้าของประเทศจีนผ่านเวียดนาม
แน่นอนว่าการตั้งกำแพงภาษีสินค้าที่สหรัฐฯนำเข้าจากประเทศต่างๆนั้น ผลกระทบที่จะตามมาตามระบบความคิดสามัญ สำนึกก็ย่อมตกอยู่ที่ “ประชาชนชาวอเมริกัน” มีนักการเงินยกตัวอย่างเรื่องกำแพงภาษีแบบเข้าใจง่ายๆว่า สมมติสินค้าจีนราคา 100 ดอลลาร์ เมื่อถูกเก็บภาษี 20%+34%+50% หรือ 104% ก็จะกลายเป็นราคา 204 ดอลลาร์ หากคิดตามอัตราภาษีใหม่ช่วงปลายสัปดาห์ 145% จะเท่ากับ 245 ดอลลาร์ ไม่มีทางเลยที่บริษัทเอกชนผู้นำเข้าจะยอม “อุ้ม” แบกรับภาษี ค่าส่วนต่าง ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศอื่นๆคือ สินค้าขายได้น้อยลง หรืออาจถูกสินค้าจากชาติอื่นแย่งตลาด
แต่เหตุการณ์ครั้งนี้สามารถมองได้เช่นกันว่าเป็นเกมเดิมพันของผู้นำสหรัฐฯที่มีนิสัยชอบ “ชัยชนะระยะสั้น” เพราะเรื่องกำแพงภาษีดังกล่าว ทางทีมที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจมีแผนระยะยาวที่จะขยับภาษีสินค้านำเข้าขึ้นทีละ 2% เพื่อให้เศรษฐกิจค่อยๆปรับตัว และพร้อมที่จะเบนเข็มสู่ “อเมริกา เฟิสต์”
ทว่านับตั้งแต่ขึ้นบริหารงานมาในเดือน ม.ค. ประธานาธิบดีทรัมป์ยังไม่มีผลงานชิ้นโบแดง “การเจรจาหย่าศึกกับรัสเซีย” ที่พยายามรวบรัด ก็อยู่ในสภาพชะงักงันหลังเผชิญกับเงื่อนไขของรัสเซียที่ต้องการคุยกันในเชิงลึก ส่วนที่ว่า “จะสกัดกั้นอิทธิพลจีน” ก็เงียบเชียบมาตลอดจนกระทั่งการเปิดศึกสงครามการค้าครั้งนี้
ดังนั้น การที่ทรัมป์สามารถดึงกว่า 70 ประเทศให้เข้ามาเจรจาและยอมรับเงื่อนไขใหม่ที่สหรัฐฯเป็นผู้กำหนด (ซึ่งอาจรวมถึงการบีบให้ประเทศต่างๆกีดกันสินค้าจีน?) ก็อาจพอจะนำไปขายแก่บรรดากองเชียร์ผู้สนับสนุนได้บ้าง เพราะผู้นำสหรัฐฯเคยพูดไว้เช่นกันว่า เราต้องตุนแต้มไว้สำหรับศึกเลือกตั้งสภาคองเกรสปี 2569
ทว่าเกมระยะสั้นแบบนี้ ไม่มีอะไรที่จะมารับประกันได้ 100% ว่า หากนานาชาติเลือกที่จะ “ไม่ง้อ” แล้วจะเป็นเช่นไร? แน่นอนว่าด้วยบารมีและอิทธิพลที่สหรัฐฯสั่งสมมานาน ไม่รวมถึงระเบียบสากลต่างๆ มันทำให้ยากที่จะถูกประเทศต่างๆโดดเดี่ยว แต่ในทางเดียวกัน “ความไว้เนื้อเชื่อใจ” ที่สร้างกันอย่างยากลำบากก็สามารถพังทลายได้อย่างรวดเร็ว...ถือเป็นการเดิมพันที่มีความเสี่ยงสูงยิ่งนัก.
วีรพจน์ อินทรพันธ์
คลิกอ่านคอลัมน์ “7 วันรอบโลก” เพิ่มเติม
...