แม้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะประกาศยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์บางรายการจากจีนเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2568 แต่สินค้าจากจีนยังคงต้องเผชิญกับภาษีอื่นๆ ที่สูงขึ้น เช่น ภาษีที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมสารเฟนทานิลในอัตรา 20% และภาษีทั่วไปในอัตรา 10%

นอกจากนี้ จีนยังไม่ได้รับการเลื่อนการบังคับใช้ภาษี 90 วันเหมือนกับประเทศอื่นๆ แต่ความกังวลในตลาดโลกยังคงดำเนินต่อไป โดยเฉพาะ iPhone ที่มีฐานการผลิตหลักในจีนที่ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผู้บริโภคทั่วโลก

โดยเฉพาะในสหรัฐฯซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของแอปเปิล การขึ้นภาษีนำเข้า แม้เพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้ราคาจำหน่ายในสหรัฐฯปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน ส่งผลกระทบต่อยอดขายและกำไรของบริษัททันที

...

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ เช่น สิงคโปร์ ไทย หรือญี่ปุ่น อาจแตกต่างกันไป โดยสิงคโปร์ถือเป็นศูนย์กระจายสินค้าของแอปเปิล ในภูมิภาคอาเซียน และมีเขตการค้าเสรีกับคู่ค้าอื่นๆ ทั้งสหรัฐฯ จีน และอินเดียที่ช่วยป้องกันผลกระทบระยะสั้นจากภาษีของสหรัฐฯ

แต่ในระยะยาว หากต้นทุนการผลิตทั่วโลกเพิ่มขึ้น สิงคโปร์อาจได้รับผลกระทบจากการปรับราคาสากลของแอปเปิลเช่นเดียวกัน

ด้านประเทศไทย แม้จะได้รับประโยชน์ จากเขตการค้าเสรีอาเซียนซึ่งเก็บภาษีนำเข้า iPhone ที่ 0% แต่ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากจีนหรืออินเดียจะทำให้แอปเปิล ต้องปรับราคาสินค้าระดับโลก ส่งผลโดยตรงต่อราคาขายปลีกในประเทศไทย ซึ่ง มีการวิเคราะห์กันว่าอาจเพิ่มขึ้น 5–15% ในระยะ 1–2 ปีข้างหน้า หากสถานการณ์สงครามการค้ายังไม่มีท่าทีคลี่คลาย

สำหรับญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดที่แอปเปิลมีฐานลูกค้าจำนวนมาก แม้จะมีศักยภาพในการดูดซับผลกระทบจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้มากกว่า แต่การที่ค่าเงินเยนมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ อาจทำให้ราคาที่นำเข้าสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญได้เช่นกัน

ขณะที่แอปเปิลได้เร่งดำเนินการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศ อื่นๆ เช่น อินเดียและเวียดนาม โดยเฉพาะอินเดียที่เริ่มมีบทบาทชัดเจนในการผลิต iPhone รุ่นใหม่ โดยในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แอปเปิลได้เร่งส่งออก iPhone จากอินเดียไปยังสหรัฐฯ รวม 4 ล้านเครื่องหรือประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งยังคงเป็นสัดส่วนเพียง 5-6% จากความต้องการในตลาดสหรัฐฯ ที่สูงถึง 70-80 ล้านเครื่องต่อปี

...

บริษัทวิจัย Jefferies คาดการณ์ว่าแอปเปิลต้องเพิ่มการผลิต iPhone รุ่น Pro และ Pro Max จากจำนวน 0 เป็นเกือบ 40 ล้านเครื่องภายในสองปี ซึ่งเป็นเรื่องยาก เนื่องจากขั้นตอนการผลิตที่ซับซ้อน เช่น โครงสร้างไทเทเนียม กล้องสามเลนส์ และแบตเตอรี่ขนาดใหญ่

ขณะที่แผนเปิดตัว iPhone 17 ที่จะเปิดตัวในปีนี้ คาดว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญทั้งด้านดีไซน์และเทคโนโลยี ด้วยตัวเครื่องที่บางที่สุดเท่าที่เคยผลิต กล้องรุ่นใหม่ และชิ้นส่วนภายในที่พัฒนาเอง ซึ่งเป็นเครื่องดัมมี่ทั้งภาพนิ่งและวิดีโอที่เป็นข่าวลือออกมาทางออนไลน์ ล่าสุดจาก AppleTrack

รวมถึงรุ่นจอพับในปีหน้า จะยิ่งเพิ่มความท้าทายให้การกระจายกำลังผลิตนอกจีนของแอปเปิลยุ่งยากยิ่งขึ้น.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทความไซเบอร์เน็ต” เพิ่มเติม