ช่วงนี้บ้านเมืองของเรามีเรื่องนั่นโน่นนี่ ให้วิพากษ์วิจารณ์กันตลอด เรื่องฮอตๆที่กำลังรอดูผล ก็มีคดีฮั้ว สว. คดีชั้น ๑๔ ซึ่งวงการพระเครื่องก็คุยขรม หลายคนเดิมพันกินโต๊ะกินตังค์กันว่าใครจะรอดไม่รอด--ประสาคนไทยใจพุทธ เวลามีเรื่องคับขันก็มักจะพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอช่วยให้ผ่านพ้น แต่เราก็เชื่อกันและเห็นมานักต่อนักว่า ต่อให้พระเต็มคอ แต่ถ้าถึงเวลาที่ผลแห่งกรรม (การกระทำ) ที่สร้างความเดือดร้อนต่อคนอื่นตามมาพระก็ช่วยไม่ได้

วันนี้เริ่มกันที่ พระพิมพ์สมเด็จ ๓ ชั้น ยันต์ ๕ พระเทพโมลี (แก้ว) พ.ศ.๒๔๓๑-๒๔๔๓ วัดเฉลิม พระเกียรติ ต.บางศรีเมือง อ.เมือง จ.นนทบุรี วัดที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างอุทิศถวายพระราชชนนี
...
ปี พ.ศ.๒๔๘๔ มีการลักลอบขุดพระเจดีย์ใหญ่พบ พระพิมพ์เนื้อผงขาวอมเหลืองแต่ไม่มีประวัติการจัดสร้าง จึงสันนิษฐานว่าสร้าง บรรจุไว้โดย พระเทพโมลี (แก้ว) เจ้าอาวาส ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๓๑-๒๔๔๓
ทางวัดได้นำไปแจกจ่าย มีพิมพ์พระหลากหลาย ส่วนใหญ่เป็นทรงสี่เหลี่ยม อย่าง “พระสมเด็จ” ซึ่งแยกเป็น พิมพ์ยันต์ ๕ ฐาน ๓ ชั้น พิมพ์ยันต์วาฐาน ๕ ชั้น พิมพ์ข้างอุ พิมพ์ ๗ ชั้น และยังมีพิมพ์กลีบบัว พิมพ์ชินราช พิมพ์พระคง--ได้รับความนิยมเรียกเป็น พระสมเด็จ วัดเฉลิมพระเกียรติ มีอานุภาพ พุทธคุณ เมตตามหานิยม มหาโชค มหาลาภ
ปัจจุบันหาพระแท้ยากมาก ยิ่งเป็นพระแท้ดูง่าย สภาพงามสมบูรณ์เดิมๆแบบองค์นี้ ของ ร้าน Soul Good พัทยา ราคาอยู่หลักแสนมานานแล้ว

องค์ที่สอง พระปิดตา พิมพ์ตะพาบ เนื้อผงคลุกชัน เคลือบรัก หลวงปู่เอี่ยม ปฐมนาม วัดสะพานสูง อ.ปากเกร็ด นนทบุรี ของเสี่ยโจ๊ก ลำพูน
เป็น ๑ในพิมพ์นิยมมาตรฐาน พบน้อยหายากคือ ๑.พิมพ์ชะลูดใหญ่ เนื้อในเป็นผงพุทธคุณล้วน ๒.พิมพ์ชะลูด เนื้อในเป็นผงพุทธคุณผสมผงยาเรือ มีทั้งเนื้อหยาบ เนื้อละเอียด ๓.พิมพ์ตะพาบ เนื้อในเป็นผงพุทธคุณผสมผงชัน ส่วนใหญ่เนื้อหยาบ ผิวมีเม็ดแดง ๔.พิมพ์พนมมือ เนื้อผงพุทธคุณผสมผงชัน เนื้อหยาบ ผิวมีเม็ดแดง--ทุกพิมพ์ ทุกเนื้อ ส่วนใหญ่ จุ่มรักเคลือบ ไว้ มีทั้ง รักดำ และ รักน้ำเกลี้ยง ผสมชาดแดง (ชาด ที่เราได้ยินในงานศิลปะบ่อยๆ เช่น ร่องชาด ปิดทองร่องชาด เป็นผงสีแดงสด ที่ได้จากการถลุงแร่ซินนาบาร์เพื่อเอามาทำยาไทย หรือผสมน้ำมัน ใช้ประทับตราสิ่งของสมัยโบราณใช้ย้อมผ้าให้เป็นสีแดง และใช้ทาสิ่งของ)
ผ่านกาลเวลามาถึงปัจจุบัน รักก็แห้ง แตกระแหง อย่างองค์นี้มีสภาพสมบูรณ์สวยเนี้ยบทุกอณู ทั้งพิมพ์พระติดชัดลึก “สุดพิมพ์” เสมอทั่วองค์ ซึ่งนักนิยมพระรุ่นเก่าเชื่อว่าเป็นลักษณะของพระที่กดพิมพ์ เป็นปฐมฤกษ์ในพิธี โดยองค์หลวงพ่อเองที่ต้องกำหนดจิตเป็นสมาธิแน่วแน่ ขณะกดพิมพ์ พร้อมสวดพระคาถาปลุกเสกกำกับบรรจุพลังจิต เพื่อให้องค์พระมีอานุภาพ คุณวิเศษศักดิ์สิทธิ์ เข้มขลังตามตำรา
จึงนับได้ว่าเป็นองค์พระที่ทรงค่าด้วยพิมพ์ องค์พระที่สวยสุด ทรงคุณเข้มขลัง แบบสุดๆด้วยพลังจิตที่มั่นคง เป็น “เพชรน้ำหนึ่ง” ในสกุล พระปิดตาหลวงปู่เอี่ยม คู่ควรกับการเก็บรักษาหรือบูชา ดังคำหลวงปู่ว่า มีเรื่องทุกข์ร้อนใด ให้เอาพระขึ้นอธิษฐาน นึกถึงข้าก็พอ

...
ตามมาด้วย พระร่วงยืน กรุวัดคูบัว อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี เป็น พระร่วงกรุแรก ของเมืองสุพรรณฯ พบเมื่อราวปี พ.ศ.๒๔๗๘ เป็นพระทรงยืน พุทธศิลป์สมัยอู่ทอง (ผมเวียน) ล้อลพบุรี องค์อวบสมบูรณ์ เนื้อโลหะสนิมแดงมีไขขาว
พิมพ์พระแยกเป็น พิมพ์ใหญ่ซุ้มรัศมี พิมพ์เล็ก พิมพ์นั่งปางนาคปรก อานุภาพเลื่องลือด้านแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี องค์นี้ ของ เสี่ยบอล อู่ทอง เป็นพระพบน้อย หาได้ยากยิ่ง สภาพสมบูรณ์สวยแชมป์เดิมๆ แบบนี้ “เข้าตา” สายตรงพระกรุ-พระเก่า ราคาจึงว่ากันหลายแสน

ตามมาด้วย เหรียญรามเกียรติ์ (หนุมาน) เนื้อเงินลงยา พ.ศ.๒๔๖๐ พระครูสุชาติเมธาจารย์ (หลวงพ่อกุน) วัดพระนอน ต.คลองกระแชง อ.เมือง เพชรบุรี
ท่านเป็นพระเกจิฯผู้สร้าง ตะกรุดไมยราพสะกดทัพ ยอดนิยมวงการกับเครื่องราง รูปแบบเกี่ยวกับมหากาพย์ “รามเกียรติ์” โดยนำคุณวิเศษของตัวเอก นำมาเป็นเคล็ดวิชาสร้างเครื่องรางของขลังจนมีชื่อเสียง ได้รับความนิยมสูงจนถึงปัจจุบัน
อย่าง เหรียญหนุมาน ลงยาราชาวดี รุ่นนี้ ที่สร้างตามความเก่งกล้าสามารถของทหารเอกพระราม ตามตำรับวิชา “ลบถม” ลงอักขระพระคาถาบนแผ่นเงิน เสกกำกับ คลึงลบด้วยลูกสะบ้า ๓ รอบ ก่อนนำมาสร้างเหรียญ จึงมีจำนวนน้อย หาพบยาก ยิ่งสภาพสมบูรณ์เดิมๆ อย่างเหรียญนี้ ของ เสี่ยวุฒิ ชะอำ นับในวงการได้ เพียงหลักสิบองค์เอง
ตรงนี้แทรกตอบ คำถามสนามพระ ว่า สำหรับการ ลงยา ก็คือการแต้มสีต่างๆ ลงในร่องลายของ สิ่งของต่างๆ หรือเครื่องประดับที่เป็นโลหะ ส่วนมากเป็นทองคำ แทนการฝังอัญมณี ใช้สีแดง เขียว น้ำเงิน ฟ้า
งาน ลงสี ถ้าเป็นของคนธรรมดา เรียกว่า ลงยา หรือลงบนทอง ก็เรียก ทองลงยา แต่ถ้าเป็นของใช้ เครื่องทองของกษัตริย์ หรือเจ้านายชั้นสูง จะเรียกว่า ลงยาราชาวดี ซึ่งลง สีฟ้า ที่ทำมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑--แต่ตอนหลังเราเรียกการลงยาบนเนื้อโลหะ ไม่ว่าเป็นสีอะไรว่า ลงยาราชาวดี กันหมด ไม่ได้แยกว่าต้อง สีฟ้า ถึงจะเป็น ลงยาราชาวดี--ทราบแล้วเปลี่ยน

...
อีกรายการ เป็น เขี้ยวเสือแกะ (อ้าปาก) หลวงพ่อปาน วัดคลองด่าน อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เครื่องรางเขี้ยวเสือแกะ ยอดนิยมอันดับ ๑ ที่ หลวงพ่อปาน แกะเองบ้าง และให้ช่างฝีมืออีกหลายคนแกะ
ฟอร์มทรงเป็นมาตรฐาน ๒ แบบ ๒ ขนาด คือ ๑.ขนาดเล็ก (หุบปาก) กับขนาดใหญ่ (อ้าปาก )อย่างตัวนี้ ของ เสี่ยสถิต ราชบุรี ที่เป็น ๑ ในฝีมือช่างมาตรฐาน แท้ ดูง่าย “โดนตา” ด้วยอายุความเก่าธรรมชาติของเนื้อเขี้ยว งาม “โดนใจ” ด้วยรูปทรงเส้นศิลป์มาตรฐาน มั่นใจในอานุภาพด้วยลายมือจารอักขระ ที่ทำให้รำลึกถึงหลวงพ่อเวลาอาราธนา เสือมาดเข้มขลัง “ครบเครื่อง ”แบบนี้ ราคาน่าจะสูงอยู่

ตามมาด้วย หนุมาน งาแกะ พระนันทวิริยาจารย์ (หลวงพ่อกุหลาบ) วัดใหญ่สว่างอารมณ์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ของ เสี่ยบอมเบย์ สุพรรณ
ท่านบวชเณรตอนอายุ ๑๑ ปี จำพรรษาเรียนวิชากับ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) วัดอนงคาราม จนอายุ ๒๑ ไปอุปสมบทที่วัดบ้านเกิด โดยมี หลวงปู่ช่วง วัดบางแพรกใต้ เป็นพระอุปัชฌาย์
ท่านเรียนสรรพวิชาสาย จ.นนทบุรี ไว้ครบถ้วน อย่างการสร้าง หนุมาน ตำรับหลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน นี้ ที่มีรูปทรงเป็นเอกลักษณ์ ลงชาดแดงที่ดวงตา ปิดทองเก่า แกะอักขระใต้ฐาน เป็นเครื่องรางของขลังยอดนิยมชั้นเยี่ยมของเมืองนนทบุรียุคปัจจุบัน
ลากันด้วยเรื่องปิดท้ายในร้านพระเครื่องบนศูนย์ใหญ่ ซึ่งวันก่อนมีมนุษย์วัยป้า ชื่อ สมใจ หอบพระเครื่องถุงใหญ่ไปเสนอขาย เจ้าของร้าน พอเอาออกมาดู ส่วนใหญ่เป็นพระเครื่องของพระเกจิฯ ยุคหลังปี พ.ศ.๒๕๐๐ อย่าง หลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ จ.ระยอง หลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่ จ.นครราชสีมา หลวงพ่อสงฆ์ วัดเจ้าฟ้าศาลาลอย จ.ชุมพร และพระเกจิฯมีชื่อร่วมสมัย
ซึ่งเจ้าของร้านก็คัดๆซื้อไว้นับสิบองค์ ระหว่างจ่ายเงินก็ชวนคุยว่า ได้พระมาจากไหน ป้าบอกว่า เป็นพระของลุงที่ตายไป ๓ ปีแล้ว สมัยหนุ่มแกชอบตระเวนไปเช่าบูชาพระเครื่องวัตถุมงคลพระเกจิฯ มาเก็บ ป้าก็เลือกองค์ที่ชอบๆ เก็บไว้บ้าง ก็คือพระที่เอามาขายนี่แหละ
เจ้าของร้านถามต่อว่า ป้าดูพระเป็นเหรอถึงเลือกพระนี่ไว้ เพราะทุกองค์เป็นพระแท้ทั้งนั้นเลย ป้าบอกว่า ดูไม่เป็นร็อก แต่ที่เลือกเก็บไว้ เพราะเป็นองค์ที่มีหมายเลขกำกับ ตั้งใจเอาเลขไว้ซื้อหวย แต่ก็ถูกมั่ง ไม่ถูกมั่ง ก็ไม่แน่ใจว่าพระศักดิ์สิทธิ์ไหม--ถึงวันนี้ป้าบอกว่า ได้เห็นแล้วว่าพระศักดิ์สิทธิ์จริงๆ เพราะขายได้เกือบล้าน เจ้าค่ะ อามิตตพุทธ.
สีกาอ่าง
คลิกอ่านคอลัมน์ "สนามพระ" เพิ่มเติม