เมืองไทยมีวันหยุดยาวกันอีกยก ตั้งแต่วันพืชมงคลจนถึงวันหยุดชดเชยวิสาขบูชา แต่ตลาดพระเปิดทุกวัน

วันนี้เริ่มกันที่คำถามสนามพระ ว่ เมืองไทยมีตลาดพระเครื่องตั้งแต่ยุคไหน ซึ่งจริงๆก็ไม่รู้ว่าจะนับจากตรงไหน เพราะซื้อขายกันทั่วไปมุมเล็กมุมน้อยแต่ที่เป็นแหล่งใหญ่ คือข้างถนนริมคลองหลอด ตั้งแต่พระแม่ธรณีฯ ถึงศาลแพ่ง ซึ่งประมาณปี ๒๔๙๐ ย่านนี้เป็นที่ชุมนุมหนุ่มวัยดึก เดินดูพระตามแผง

พอเก็บแผงพระแล้ว ตอนเย็นๆเซียนพระและคนชอบพระก็จะไปชุมนุมบริเวณศาลแพ่ง ซึ่งมีร้านขายนํ้าขายกาแฟ ที่เรียกว่า บาร์มหาผัน เอาพระไปอวด ไปแลกกัน ซึ่งเจ้าของพระก็ตั้งราคาตามใจชอบ ถ้าพระที่อยากได้แพงกว่าพระตัวเอง ก็จ่ายตังค์เพิ่ม หรือแลกแบบพระถูก ๒ องค์ กับพระแพง ๑ องค์--ตอนนั้น เซียนเก่าผู้เฒ่าเล่าว่า พระสมเด็จวัดระฆังฯ องค์ละ ๔,๐๐๐-๕,๐๐๐

จากวิธีแลกโป๊พระ โป๊เงิน ทำให้มีการตั้งราคาพระเป็นเรื่องเป็นราว เพราะบางคนไม่มีพระจะไปแลก หรือมีก็อยากเก็บไม่อยากแลก จึงอยากซื้อองค์ใหม่เลย

ต่อมา กทม.จัดระเบียบคลองหลอด แผงพระจึงย้ายไปอยู่วัดมหาธาตุ แล้วถูกไล่ที่อีก จึงยกทัพไปอยู่วัดราชนัดดา และย้ายอีกทีไป ท่าพระจันทร์ ซึ่งเป็นแหล่งชุมนุมวัตถุมงคลใหญ่สุดของไทยมา ๖๐ ปี จน กทม.จัดระเบียบอีก ตลาดพระจึงเข้าสู่ยุคขึ้นห้างมีแอร์ ใหญ่สุดก็คือที่ห้างพันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน--จบ

พระสมเด็จ พิมพ์ฐานแซม สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังฯ ของทศพล ไหลสงวนนาม.
พระสมเด็จ พิมพ์ฐานแซม สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังฯ ของทศพล ไหลสงวนนาม.

...

วันนี้เริ่มกันที่ พระสมเด็จ พิมพ์ฐานแซม สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพฯ จากรังเสี่ยทศพล ไหลสงวนนาม

พระสภาพสมบูรณ์ เนื้อจัดเพราะอมเหงื่อ จากสัมผัสผ่านใช้มาอย่างโชกโชน จนมีริ้วรอย เนื้อในอัดแน่นด้วยมวลสารครบสูตร มุมล่างขวาองค์พระเนื้อหลุดไปนิด แต่เส้นศิลป์พิมพ์พระยังสมบูรณ์ชัด บอกความเป็น “วัดระฆังฯ” แบบแท้ดูง่าย

เป็น “พระตาเปล่า” ที่เซียนสายตรงบอกซื้อสบายใจ ขายสบายตัว ไม่ต้องกลัวเป็น “ข้ามวัด ข้ามคลอง” แต่หาพบมากๆ ปัจจุบันราคาก็ต้องว่ากันตามมาตรฐานที่หลักล้าน

พระรอด พิมพ์เล็ก กรุวัดมหาวัน ของนนท์ บางแค.
พระรอด พิมพ์เล็ก กรุวัดมหาวัน ของนนท์ บางแค.

ถัดไปเป็น พระรอด พิมพ์เล็ก กรุวัดมหาวัน ลำพูน ที่ค้นพบบรรจุอยู่เพียงในกรุพระวัดมหาวันแห่งเดียว แยกเป็น ๑.พิมพ์ใหญ่ ๒.พิมพ์กลาง ๓.พิมพ์เล็ก ๔.พิมพ์ต้อ ๕.พิมพ์ตื้น เป็นพระพิมพ์เนื้อดินเผาอันดับ ๑ ของลำพูน

ด้วยพุทธศิลป์สมัยหริภุญไชย ที่มีอายุการสร้างนับพันปีกับอานุภาพพุทธคุณ คุ้มครองป้องกันภัย ที่เลื่องลือ ตรียัมปวาย จึงจัดเป็น ๑ ใน ๕ พระเครื่อง เบญจภาคี

ในอดีตให้ความสำคัญกับพิมพ์พระเป็นหลัก สวยน้อยสวยมาก ไม่ติดใจขอให้เป็นพิมพ์เบอร์ต้น ก็ได้ราคา ซื้อง่ายขายคล่อง แต่ปัจจุบันพระแท้หายาก จึงให้ความสำคัญกับความสมบูรณ์ขององค์พระ พระพิมพ์รอง สวยแชมป์อย่างองค์นี้ ของ เสี่ยนนท์ บางแค จึงอาจมีราคาสูงเทียบชั้น หรือแซงหน้าพระพิมพ์เบอร์ต้นที่สวยน้อยก็เป็นได้

พระนางพญา พิมพ์เข่าตรง (มือตกเข่า) วัดนางพญา ของดามส์ สุพรรณ.
พระนางพญา พิมพ์เข่าตรง (มือตกเข่า) วัดนางพญา ของดามส์ สุพรรณ.

รายการที่สาม คือ พระนางพญา พิมพ์เข่าตรง (มือตกเข่า) กรุวัดนางพญา อ.เมือง จ.พิษณุโลก ในชุดเบญจภาคี ที่ พระวิสุทธิกษัตรีย์ พระมารดา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สร้างบรรจุไว้ คราวบูรณะวัดเมื่อราวปี พ.ศ.๒๐๙๐-๒๑๐๐

...

มาค้นพบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๔ ซึ่งนักนิยมพระแยกพิมพ์เล่นเป็น ๑.พิมพ์ใหญ่ เข่าโค้งกับเข่าตรง พิมพ์อกนูนใหญ่ ๒.พิมพ์กลางสังฆาฏิ ๓.พิมพ์เล็ก เทวดากับอกแฟบ--องค์นี้ ของ เสี่ยดามส์ สุพรรณ เป็นพระพิมพ์ใหญ่ มือตกเข่า (ปลายพระหัตถ์ขวายาวพาดผ่านพระหนุ) สภาพสมบูรณ์สวยแชมป์

พระพุทธรูป พุทธศิลป์ สมัยสุโขทัยบริสุทธิ์ ๑๐.๕ นิ้ว ของโจ๊ก ลำพูน.
พระพุทธรูป พุทธศิลป์ สมัยสุโขทัยบริสุทธิ์ ๑๐.๕ นิ้ว ของโจ๊ก ลำพูน.

ถัดไปเป็น พระพุทธรูป พุทธศิลป์สมัยสุโขทัย หน้าตัก ๑๐.๕ นิ้ว ของ เสี่ยโจ๊ก ลำพูน อายุถึงยุคสมัย พุทธศิลป์สมัยสุโขทัยบริสุทธิ์ ขนาดก็นิยมสุด สภาพงามสมบูรณ์เดิมๆทั้งองค์

พระกริ่งนิรันตราย (ฟ้าผ่า) พ.ศ.๒๔๘๐ พระครูกัลยาณวิสุทธิ์ (กึ๋น) วัดดอน ยานนาวา ของบอมเบย์ สุพรรณ.
พระกริ่งนิรันตราย (ฟ้าผ่า) พ.ศ.๒๔๘๐ พระครูกัลยาณวิสุทธิ์ (กึ๋น) วัดดอน ยานนาวา ของบอมเบย์ สุพรรณ.

อีกรายการเป็น พระกริ่งนิรันตราย (ฟ้าผ่า) พ.ศ.๒๔๘๐ พระครูกัลยาณวิสุทธิ์ (กึ๋น) วัดดอน ยานนาวา กรุงเทพฯ พระเกจิฯผู้มีวิชาพุทธาคมในยุคสงครามอินโดจีน เป็น ๑ ในศิษย์ขององค์สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) ซึ่งได้รับอนุญาตให้ประกอบพิธีจัดสร้างพระกริ่งฯนี้ เพื่อมอบข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ประชาชน เป็นการบำรุงขวัญในช่วงเกิดสงครามอินโดจีน

จัดสร้างตามตำรับวัดสุทัศน์ ณ ลานพิธี วัดดอน ยานนาวา โดยสมเด็จฯทรงรับอาราธนา เสด็จเป็นประธานในพิธี ซึ่งมีเหตุอัศจรรย์ เป็นที่มาของชื่อเสียงความนิยมเกิดขึ้นถึง ๒ ครั้ง คือ “ฟ้าผ่า” ลงกลางพิธี แต่ไม่มีอันตรายใดๆ

กับตอนสมเด็จฯถือสายสิญจน์ขึ้นภาวนาเริ่มพิธี เกิดมีลมพัดสายสิญจน์ไปตกในเบ้าหลอมโลหะที่ไฟกำลังลุก แต่เกิดอัศจรรย์ ไม่ไหม้ไฟ เมื่อเสร็จพิธีท่านจึงได้มีดำริประทานนามเป็น “พระกริ่งนิรันตราย” ที่ต่อมาได้รับความนิยมเรียกเป็น “พระกริ่งฟ้าผ่า”

ปัจจุบันนิยมเล่นหาเป็น ๑ ในพระกริ่งสายวัดสุทัศน์ที่มีจุดพิจารณาเป็นเอกลักษณ์ ตรงด้านหลังพระเศียรจะมีแผ่นพระแสงรัศมีเป็นวงกลม ด้านหน้าเป็นลายไข่ปลา ด้านหลังเรียบ ส่วนใหญ่มีรอยจารอักขระอุณาโลม แบบองค์นี้ ของ เสี่ยบอมเบย์ สุพรรณ ที่ปัจจุบันราคาสูงถึงหลักแสนปลาย แต่หาพระแท้องค์งามๆแบบนี้ชมยาก

เหรียญหลวงพ่อพระชีว์ รุ่นแรก พ.ศ.๒๔๗๘ วัดบูรพาราม ของ ดร.มีชัย เถาเจริญ.
เหรียญหลวงพ่อพระชีว์ รุ่นแรก พ.ศ.๒๔๗๘ วัดบูรพาราม ของ ดร.มีชัย เถาเจริญ.

...

สุดท้ายเป็น เหรียญหลวงพ่อพระชีว์ รุ่นแรก พ.ศ.๒๔๗๘ วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์ เหรียญรูปจำลองพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวสุรินทร์ ที่มีตำนานว่า ครั้งมีพิธีสร้างเสาหลักเมืองสุรินทร์ ชาวบ้านที่ไปหาปลาในแม่น้ำชี ดำน้ำไปพบองค์พระนี้ เป็นเนื้อโลหะ ขนาดหน้าตัก ๒ คืบ จึงนำไปมอบเจ้าเมืองในพิธี

เจ้าเมืองเห็นองค์พระมีขนาดเล็ก จึงให้ช่างชาวบ้านนำดินในแม่น้ำชีมาผสมผงไม้ ยางไม้มงคลอัดแน่นพอกองค์ แต่งศิลป์เป็นแบบขอม และนำประดิษฐานเหนือฐานสูง เป็นพระประธานวัดบูรพาราม ได้ชื่อเรียกเป็น “หลวงพ่อพระชีว์” มาถึงปัจจุบัน

สมัย หลวงปู่ดุลย์ เป็นเจ้าอาวาส เห็นอานุภาพศักดิ์สิทธิ์ในองค์หลวงพ่อพระชีว์ คราวเกิดเหตุเพลิงไหม้ใหญ่ข้ามวันข้ามคืนวอดวายไปทั้ง จ.สุรินทร์ แต่พอลามถึงวัดบูรพาราม ไฟดับอย่างอัศจรรย์ วัดจึงไม่เสียหาย

ท่านจึงจัดสร้างเหรียญนี้ ให้บูชาเป็นเหรียญรุ่นแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘ ปัจจุบันเป็นเหรียญพระพุทธยอดนิยมสูงสุดของสุรินทร์ และเป็นเหรียญพระพุทธยอดนิยมราคาหลักแสน--สภาพเนี้ยบ ระดับแชมป์ อย่างเหรียญนี้ ของ ดร.มีชัย เถาเจริญ สายตรงบอกถึงหลักล้านก็มีคนสู้

ลากันด้วยเรื่องปิดท้ายที่วัดดังในราชบุรี ตอนสงกรานต์ ซึ่งเจ้าอาวาส พระเกจิฯมีชื่อเสียงในวิชาอาคม ด้านเมตตาค้าขาย ได้นำพระเครื่อง ของขลัง ที่สร้างมามอบผู้ร่วมงานฟรี คนละองค์ๆ พร้อมเสกคาถาเป่ากระหม่อมให้ปลอดโรค ปลอดภัย ค้าขาย ร่ำรวย

ทุกคนได้รับพระแล้ว ก็กราบลา มาถึงคิว เจ๊รัตนา ที่รับพร รับพระแล้วไม่ยอมลา หลวงพ่อก็ถามว่า ยังอยากได้อะไรอีกหรือโยม

โยมเจ๊ ที่เป็นแม่ค้าพระเครื่อง พนมมือแต้ บอกว่าอยากได้พระเพิ่ม หลวงพ่อก็เมตตาพยักหน้า จะหยิบให้อีกองค์ แต่หดมือทัน เมื่อเจ๊ที่ชอบของฟรีเป็นอันมาก บอกว่า จะขอไปขายสัก ๑๐๐ องค์ เจ้าค่ะ อามิตตพุทธ.

สีกาอ่าง

คลิกอ่านคอลัมน์ "สนามพระ" เพิ่มเติม